วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

คำกล่าวสุนทรพจน์

สุนทรพจน์
สุนทรพจน์ ณ พิธีเปิดการประชุมความร่วมมือระหว่างไทย – ลาว เพื่อการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำแบบยั่งยืน
สุนทรพจน์ของนายเอียน พอร์เตอร์
ผู้อำนวยการธนาคารโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ณ พิธีเปิดการประชุมความร่วมมือระหว่างไทย – ลาวเพื่อการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำแบบยั่งยืน
โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
วันที่ 7 กันยายน 2550
ฯพณฯ ดร. ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
ฯพณฯ ดร. บอสายคำ วงดารา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและแร่ธาตุ
รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ท่านผู้มีเกียรติ ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานต่อเหตุการณ์ที่สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ความร่วมมือของทั้งสองประเทศนี้ และผมขอแสดงความชื่นชมต่อ ฯพณฯ ดร. บอคำสาย และ ฯพณฯ ดร. ปิยะสวัสดิ์ ที่ได้ริเริ่มให้มีการประชุมนี้เกิดขึ้น
สาเหตุที่ทำให้การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งต่อผู้แทนของรัฐบาลต่าง ๆ ซึ่งมีบทบาทในงานพัฒนาของทั้งสองประเทศนั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน
ประการแรก การประชุมครั้งนี้นับว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ความร่วมมือของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถตอบสนองต่อความต้องการทางด้านการพัฒนาของตนเองได้
ประการที่สอง การประชุมในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้พวกเราทุกคนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเราเองจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในอดีต รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงนโยบายของแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การส่งเสริมคุณภาพของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้โครงการเหล่านั้นดำเนินไปในแนวทางที่ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ประการสุดท้าย การที่พวกเรามารวมตัวกัน ณ ที่นี้ เป็นการตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว ที่จะต้องคำนึงถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน ทางสังคม และทางสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไป
ความร่วมมือระหว่างลาวกับไทยนั้นได้ดำเนินมาเป็นเวลานานร่วมสองทศวรรษแล้ว และประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองก็ได้รับประโยชน์เท่าเทียมกันจากความร่วมมือนี้ การประชุมในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสอันดีงามโอกาสหนึ่งที่จะช่วยให้ความร่วมมือที่มีมานานนั้นแข็งแกร่งขึ้นไปอีก
การจัดหาไฟฟ้าพลังน้ำที่ “สะอาด” ให้แก่ประเทศไทยนั้น จะช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปได้อย่างรวดเร็วดังที่เป็นมาในอดีต และจะช่วยให้ประชาชนใน 17 จังหวัดทางภาคอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศนั้น ได้มีไฟฟ้าใช้ในราคาที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งในประเทศและในโลก
ในขณะเดียวกัน การสำรวจแหล่งพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำนั้น ก็จะช่วยให้ลาวสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ลาวสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ และสามารถขยับฐานะขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ในปี 2020 ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ สำหรับประเทศลาวนั้น นี่คือการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการพัฒนาประเทศในแบบที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศโดยรวม อีกทั้งยังช่วยให้ประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนานั้นสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้
สำหรับประเทศไทย นี่คือการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในอันที่จะสร้างความมั่นใจว่า พลังงานที่ไทยจะรับซื้อจากลาวในอนาคตนั้นต้องเป็นพลังงานที่ “สะอาด” หมายถึงพลังงานที่ไทยมีส่วนช่วยให้ลาวพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นพลังงานที่ไม่เป็นโทษต่อสภาพแวดล้อมและประชากรลาวโดยรวม ความร่วมมือระหว่างลาว-ไทยที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่มารวมกันอยู่ ณ ที่นี้ด้วย
สำหรับผู้ดำเนินโครงการจากภาคเอกชนและผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน ความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำแบบยั่งยืนนี้ ทำให้เกิดรายได้จำนวนมาก แล้วยังเป็นความร่วมมือที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ถึงแม้ว่าบางท่านอาจจะเคยพูดถึงมาตรการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มากับโครงการในลักษณะนี้ว่าเป็น “ภาระ” มาก่อนก็ตาม แต่การที่พวกท่านมารวมตัวกัน ณ ที่นี้เป็นจำนวนมาก ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปในตัวว่า จริง ๆ แล้วโครงการแบบนี้ก็ยังให้ผลประโยชน์ทางการเงินที่ดึงดูดใจอยู่ สำหรับองค์กรในภาคประชาสังคม การประชุมนี้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาจากมุมมองของเขา ซึ่งนับว่าเป็นการแสดงบทบาทของหุ้นส่วนในการพัฒนาอย่างแท้จริง
สำหรับตัวแทนจากสถานทูตและองค์กรเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงธนาคารโลกเอง ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำแบบยั่งยืนนั้น ก็เปิดโอกาสให้พวกเราได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อโครงการที่ปกป้องสภาพแวดล้อมและยังประโยชน์ต่อชุมชนในระดับท้องถิ่น
การที่เรามารวมตัวกันอยู่ ณ ที่นี้นั้น ก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของเราที่จะก้าวไปในทิศทางที่ควรจะไป เพื่อให้โครงการเหล่านี้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในท้องถิ่น เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้ว ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอ่ยถึงโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งเป็นตัวอย่างล่าสุด และเด่นชัดที่สุด ของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบยั่งยืน จนทำให้นิตยสารนิวสวีค ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่ทรงอิทธิพลฉบับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ถึงกับเรียกเขื่อนน้ำเทิน 2 นี้ว่าเป็นเขื่อนที่ “ดีกว่าและอ่อนโยนกว่า” เขื่อนใดใดที่เคยมีการสร้างมาแล้วในอดีต
โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 นี้ คือโครงการที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ได้รับผลกระทบดีขึ้นกว่าเก่า ทำให้รัฐบาลลาวได้มีโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ทำให้ลุ่มน้ำที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของลาวได้รับการปกป้อง ทำให้ผู้ลงทุนได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตามที่คาดการณ์ไว้ และทำให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของตนได้ โครงการนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความร่วมมือระหว่างไทย – ลาว ที่เริ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเทิน – หินบูน และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำห้วยโฮ
การประชุมในวันนี้เปิดโอกาสให้เราได้นำประสบการณ์ดี ๆ เหล่านี้ รวมทั้งบทเรียนจากในอดีต เข้ามาใช้ในการวางเป้าหมายของการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในอนาคตร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลทั้งสองฝ่าย และจากชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม หรือไม่ได้แรงสนับสนุนจากบริษัทเอกชนที่มีความรับผิดชอบ รวมทั้งจากผู้แทนของสถานทูตและองค์กรต่าง ๆ ซึ่งมีบทบาทในงานพัฒนา ที่สำคัญ การประชุมในครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน ทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อม หากเราสามารถเลือกทั้งหมดนี้ได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน
ขอบคุณ

1 ความคิดเห็น: